บทความโดย: ภาสันต์-สุระพันธ์ ภาสุระพันธ์
ตากับช่วงอายุ
กาลเวลาผ่านไปเราอายุมากขึ้น จึงย่อมมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกินขึ้นกับเรา เราตัวโตขึ้น มีพละกำลังมากขึ้น แต่เมื่อเลยจุดๆหนึ่งไป ร่างกายเราก็อ่อนแอลง ตาของเราก็มีการเสื่อมถอย การมองเห็นก็เริ่มแย่ลง แต่ว่าเราจะรู้ได้ยังไงว่าตาของเรามีการเสื่อมถอย? แต่ละอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงสายตาที่ต่างกัน
*ตารางที่เราทำขึ้นมานั้นเป็นการ screen การเปลี่ยนแปลงของตาเราอย่างหยาบๆซึ่งต้องมีการตรวจตาอย่างละเอียดอีกทีจากผู้เชี่ยวชาญ
อายุ 10 - 20 (Gen i)
อาการที่จะเจอ: สายตาสั้นเทียม
สายตาของเด็กจะเพิ่มอย่างรวดเร็วเนื่องจาก ยุคนี้มีการใช้สายตาอย่างเยอะมาก และกับที่น้องตัวโตขึ้น กระบอกตามีความยาวขึ้นและใหญ่ขึ้นทำให้สายตาสั้นเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอุปกรณ์ดิจิตอล และ Lifestyleที่เปลี่ยนไป จึงมีแนวโน้มที่จะทำให้เด็กจะมีสายตาสั้นมากขึ้น กว่าพวกเราจะจับไอแพด ก็อายุ 20 หรือ 30 แล้ว น้องๆที่โตมากับอุปกรณ์ ดิจิตอล บางคน 2 ขวบก็จับ ipad แล้ว ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายท่านต้องพามาทำแว่นบ่อย แต่อย่าไปดุน้องเค้าๆนะครับ เพราะยุคนี้เราหลีกเลี่ยงเลยไม่ได้จริง อะไรๆก็ต้องใช้คอมพิวเตอร์ไปหมด สิ่งที่สำคัญคือต้องให้น้องๆหมั่นพักสายตาทุกๆชม. และกินอาหารบำรุงสายตา ก็จะช่วยป้องกันได้
อายุ 20-30 (Gen Y)
อาการที่จะเจอ: สายตาสั้นเทียม , ตาแห้ง , ตาเหนื่อย
ในวัยนี้ การเปลี่ยนแปลงของสุขภาพตากับสายตานั้นอาจจะยังมีเหลืออยู่ แต่ไม่ควรมีมากเพราะร่างกายเราหยุดเจริญเติบโตแล้ว ไม่ควรมีสายตาสั้นเพิ่ม ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง ส่วนใหญ่จะเกิดมาจากการใช้งานของตาเรา เช่นการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์มากเกินไปอาจจะทำให้มีอาการสายตาสั้นเพิ่มขึ้นได้ (ลิ้งอาการสายตาสั้นเทียม) ที่พบได้บ่อยคือสายตาสั้นเทียม ยิ่งกลุ่มวัยทำงานในออฟฟิศ ที่ใช้คอมพิวเตอร์มากกว่า 8 ชม. โอกาสที่จะรู้สึกปวดตาจากอุปกรณ์ดิจิตอลจึงมีสูงมาก ก่อให้เกิดสายตาสั้นเพิ่มขึ้นเยอะ
อายุ 30-40 (Gen X and Y)
อาการที่จะเจอ: สายตาสั้นเทียม และ computer symdrome และ สายตายาว (ในกรณีที่มีการใช้สายตาเยอะ)
ช่วงเริ่มต้นวัยนี้ สายตาควรจะมีความนิ่งได้แล้ว คนที่มีสายตาสั้นก็ควรจะหยุดสั้น ถ้ามีการเพิ่มของสายตาสั้น ร่างกายบอกเราว่าเรามีการใช้งานอย่างหนัก ส่วนใหญ่จะมาจาก สายตาสั้นเทียมกลายเป็นสายตาสั้นจริง ซึ่งอาการเหล่านี้น่าจะมาจากlifestyleของเราและการทำงาน สิ่งที่ทำไว้ตั้งแต่ ช่วงอายุ20 อาจจะมาส่งผลตอนช่วงอายุ30 ก็เป็นได้ การใช้สายตาหนักๆ อาจจะทำให้เกิดภาวะสายตาสูงอายุเร็วขึ้นก็เป็นได้ เดี๋ยวนี้ อาการสายตาสูงอายุบางคน 37 ก็แสดงอาการที่มองระยะใกล้ไม่ทนออกมาแล้ว เพราะเรามีlifestyle ที่เปลี่ยนไป การใช้สายตาของเราหนักกว่า สมัยไม่มี digital device หลายเท่า
อายุ 40-50 (Gen X ยุคต้น)
อาการที่จะเจอ: สายตายาวอ่านหนังสือ, ต้องการแว่นอ่านหนังสือ, อ่านหนังสือไม่ทน, ปวดตาเร็วขึ้นเมื่อทำคอม
ไม่สามารถหนีพ้นสายตาอ่านหนังสือได้ ช่วงนี้จะเป้นช่วงที่ทุกคนเริ่มแพ้ต่อสังขารตัวเอง สังเกตได้ว่าช่วงนี้จะเริ่มมองอะไรไม่ชัดระยะใกล้ มีอาการทำงานคอมพิวเตอร์แล้วปวดตา ถึงแม้กระทั่งทำแว่นใหม่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า presbyopia (เพรสไบโอเปีย) ซึ่งเป็นอาการเริ่มมีสายตาผู้สูงอายุ เนื่องจากมีความเสื่อมของเลนส์ตาแล้วการทำงานกล้ามเนื้อของตาไม่สามารถทำงานได้ปกติเหมือนตอนที่ยังเป็นวัยรุ่นอยู่ เท่านั้นไม่พอช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ร่างกายเราเริ่มมีปัญหา โรคต่างๆเริ่มถามหา อย่างเช่นเริ่มเป็นโรคเบาหวาน คนที่สูบบุหรี่มาตลอด อาจจะมีปัญหา ซึ่ง ลามไปถึงการมองเห็นได้ บุคลลที่ต้องอยู่กลางแจ้งเยอะ ตาโดนรังสี UV มากๆ มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นต้อกระจก และโรคอื่นๆตามมา
อายุ 50-60 (Baby Boomers)
อาการที่จะเจอ: สายตายาวอ่านหนังสือ, ต้อกระจก
ช่วงนี้จะมีปัญหาการมองที่ระยะกลาง ระยะกลางคือระยะทำคอมหรือระยะที่อยู่ระหว่าง 50-80 ซม. บุคคลในช่วงนี้จะเข้าใจสายตายาวเป็นอย่างดีและเข้าใจว่าการลืมแว่นหรือไม่มีแว่นอ่านหนังสือมันลำบากขนาดไหน สรุป จะมีปัญหาการมองระยะกลางเข้ามาด้วย
การมองเห็นระยะกลางมีอะไรบ้าง ?
• ระยะมองจอคอมพิวเตอร์
• ระยะจดลูกตีกอล์ฟ
การทำกิจกรรม อาจจะต้องมีแว่นหลายตัวเพื่อการใช้งานที่เหมาะสม ทุกคนจะมีปัญหามองระยะกลางคล้ายๆกัน แต่ว่า แต่ละท่านจะใช้ระยะกลางต่างกัน อย่างเช่น ตัดแว่นตีกอล์ฟ ตัดแว่นทำงานโต๊ะคอม แว่นขับรถจักรยาน ยกตัวอย่างเวลาที่เราวิ่งเราต้องใช้รองเท้าวิ่ง เวลาตีกอล์ฟต้องใส่รองเท้ากอล์ฟ และเตะบอลก็ต้องใส่สตั๊ด
อายุ 60 ขึ้นไป (Baby Boomers ยุคแรก กับ Traditionalists)
อาการที่จะเจอ: ต้อกระจก
อาการส่วนใหญ่ที่พบ ได้แก่ จอประสาทตาเสื่อม ต้อหิน ต้อกระจก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของคนวัยนี้. ส่วนใหญ่มักจะเริ่มสังเกตอาการได้ด้วยตนเอง ตัวอย่างเช่น เวลาขับรถเนื่องจากการกะระยะที่คาดเคลื่อนไป เนื่องจากเป็นต้อหินทำให้ลานสายตาแคบลง หรือเวลาอ่านหนังสือ อาจจะเห็นตัวหนังสือเบี้ยวไปมา เนื่องจากเป็นการเสื่อมของจอประสาทตา ซึ่งเมื่อสังเกตอาการเหล่านี้ ควรที่จะไปพบแพทย์ให้รวดเร็วที่สุด เพื่อยับยั้งอาการไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้ หรือถ้ายังไม่มีอาการใดเกิดขึ้นก็ควรที่จะไปเช็คสายตาเป็นประจำทุกปี